ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย

ส่วนที่ 1  การเรียนรู้โลกของพืช: โลกของบอนสีจากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน

 การเรียนรู้โลกของบอนสีจากแหล่งเรียนรู้ในชุมชน    บอนสี (Caladium  bicolor)  อยู่ในวงศ์ Araceae เป็นไม้ประดับที่มีใบสวยงาม มีสีสันหลากหลายแปลกตาและเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับการขนานนามว่า  "ราชินีแห่งไม้ใบ"  ถึงแม้บอนสีจะมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้  แต่ก็เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนทั่วไปของโลก  บอนสีเป็นไม้ประเภทล้มลุกที่มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดินคล้ายหัวเผือกหรือมัน   มีรากเป็นเส้นฝอยเล็กๆแทงออกมาระหว่างหัวกับลำต้นและพักตัวในฤดูหนาวโดยจะทิ้งใบจนหมดและเริ่มผลิใบเจริญเติบโตอีกครั้งในฤดูฝน สำหรับประเทศไทย การปลูกเลี้ยงบอนสีได้รับความสนใจมากที่สุด ในช่วงปี พ.ศ. 2474-2475  ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร  ได้มีการจัดตั้งสมาคมชมรมหรือการประกวดบอนสีและรับรองการตั้งชื่อบอนสี   ปัจจุบันมีผู้นิยมปลูกบอนสีเป็นไม้ประดับจำนวนมาก  แม้ว่าบอนสีจะเป็นไม้ที่ปลูกง่ายและเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิดแต่การดูแลเอาใจใส่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย  เนื่องจากบอนสีเป็นไม้ที่มีใบบอบบาง  และงดงาม  ถ้าใบถูกทำลายหรือเป็นโรค  มีแมลงกัดกินจะทำให้ขาดความงาม  และลำต้นของบอนสีที่เกิดขึ้นจากตาของหัวจะมีการเจริญเติบ โตช้ากว่าความต้องการ  

บอนสี   หรือที่เรียกกันแต่เดิมว่า "บอนฝรั่ง" (Caladium bicolor)   จากชื่อทำให้คาดเดาได้ว่าเป็นพืชที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย   จากหลักฐานพอสรุปได้ว่าบอนสีปลูกเลี้ยงกันในต่างประเทศมานานกว่า 300 ร้อยปีแล้ว   มีการสันนิษฐานว่า บอนสีบางต้นมีผู้นำเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีน ชวา เปอร์เซีย และมีความสัมพันธ์กับชาวยุโรปเป็นอย่างดี   จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์   เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเสด็จนิวัตพระนครหลังเสด็จประภาสยุโรป ราวปี พ.ศ. 2444 ทรงนำพันธุ์ไม้หลายชนิดจากยุโรปเข้ามาปลูกในประเทศไทย  ในจำนวนพันธุ์ไม้เหล่านี้มีบอนฝรั่งหรือบอนสีรวมอยู่ด้วย   ในช่วงแรกปลูกเลี้ยงกันเฉพาะในกลุ่มของเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่   และมักปิดบังวิธีการปลูกเลี้ยงและการผสมพันธุ์บอน   จนกระทั่งความนิยมปลูกเลี้ยงบอนสีเสื่อมลง   บอนสีพันธุ์ต่างๆ จึงได้แพร่หลายสู่ประชาชนทั่วไป

            การปลูกเลี้ยงบอนสีได้มีต่อเนื่องกันตลอดมาจนถึงประมาณปี พ.ศ. 2470-2475 เป็นช่วงที่บอนสีได้รับความนิยมมากที่สุด  การผสมพันธุ์บอนขึ้นใหม่มากมายจึงมีสีสันสวยงามแปลกตาต่างไปจากบอนสีดั้งเดิม   มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอย่างแพร่หลายและการตั้งชื่อแยกหมวดหมู่ตามลักษณะและสีสันของใบออกเป็นกลุ่มๆเรียกว่า"ตับ"  นอกจากนี้ยังมีการจัดประกวดบอนสีที่ "สนามบาร์ไก่ขาว"  หลังจากปี พ.ศ. 2475 บอนสีก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง    จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2508 มีผู้สั่งบอนใบยาวจากประเทศสหรัฐเข้ามาในประเทศไทยทำให้มีการผสมพันธุ์บอนสีพันธุ์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีก   บอนสีกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งราวปี พ.ศ. 2522-2525  มีการจัดตั้ง สมาคมบอนสีแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาการปลูกเลี้ยงบอนสีรวมถึงการรับจดทะเบียนชื่อบอนสีที่ได้รับการผสมขึ้นใหม่และด้วยความสามารถของคนไทย ปัจจุบันการปลูกเลี้ยงบอนสีได้มีการพัฒนาวิธีการปลูกเลี้ยงและสายพันธุ์ให้มีสีสันสวยงามแปลกตาไปจากเดิมมาก   จนอาจกล่าวได้ว่าบอนสีคือบอนของคนไทย
นิสิตจากภาควิชาต่าง ๆ จำนวนประมาณ 110 คนที่จะเรียนวิชาโลกของพืชในภาคฤดูร้อนปีการศึกษา 2550 ซึ่งจะเน้นให้มีความสนใจเรื่องพืชที่แสดงถึงศักยภาพของคนไทยในอดีตหลังจากที่อาจารย์ได้บรรยาย จึงได้ให้นิสิตแบ่งเป็นกลุ่ม และศึกษาบอนสีพันธุ์เก่าดั่งเดิมที่อาจมีผู้มองข้าม หากได้เก็บรวบรวมก็จะเป็นการศึกษาที่มีคุณค่าให้กับเจ้าของรังบอน ทั้งยังเป็นข้อมูลแก่บุคคลทั่ว ไปที่สนใจ

                โดยกำหนดให้นิสิตที่เรียนวิชาโลกของพืชได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลบอนสีพื้นเมืองและ พันธุ์อื่น ๆ ที่ยังคงมีผู้เลี้ยงและปลูก บอนสีพันธุ์เก่าที่เคยปลูกและเพาะเลี้ยงกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนมาถึงรัตนโกสินทร์ของรัชกาลที่5 ซึ่งเคยพัฒนาพันธุ์ในอดีตมาช้านานเกรงว่าจะสูญหายไปเหลือ แต่ชื่อ   จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะกระตุ้นและเร่งเร้าเพื่อให้สร้างจิตสำนึกและมีความหวงแหนที่จะช่วยกันพยายามให้เกิดการอนุรักษ์บอนสีพันธุ์ดั้งเดิมที่มีอยู่แต่ก่อนเก่าไว้ให้จงได้ จากนั้นจัดทำเป็นเล่มและส่งให้ทางชุมชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ส่วนที่ 2  การเรียนรู้โลกของพืชจากแหล่งเรียนรู้ในธรรมชาติ          

                การเรียนรู้โลกของพืชจากแหล่งเรียนรู้ในป่าสะแกราช  การศึกษาธรรมชาติโลกของพืชในป่าธรรมชาติ เพื่อให้เข้าใจในเนื้อหาต่าง ๆ ที่ได้เรียนมาในห้องบรรยายได้แก่ พันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ และการแบ่งกลุ่ม บทบาทและความสำคัญของพืช และป่า ค้นหาความลี้ลับของป่าในช่วงกลางคืน       ศึกษาบทบาทและความสำคัญของพืชในระบบนิเวศของป่าที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช (ศึกษาโครงสร้างของป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง) สำรวจ และบันทึกพืชชนิด ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นอาหาร  โดยมีปราชญ์ชาวบ้านเป็นผู้ให้ความรู้ที่มาจากประสบการณ์  รวมทั้งศึกษาลักษณะพืชที่จัดอยู่ในกลุ่มของโลกลอยฟ้า,โลกปฐพี ไม้พื้นล่าง และ ไม้เด่นนำซึ่งจะทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์คือ รวบรวมชื่อพันธุ์พืชที่สามารถนำมาเป็นอาหารอย่างน้อย 50 ชนิด จากนั้นจัดทำเป็นเล่มและส่งให้ทางหัวหน้าสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา